พิธีสวดพระอภิธรรมศพทั่ว ๆ ไป
- ได้กำหนดเวลา นิมนต์พระสงฆ์ประจำที่ เจ้าภาพแจ้งกำหนดการให้แก่ผู้ร่วมงาน
- ประธาน ฯ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จุดธูปเทียนที่หน้าตู้พระธรรม และจุดธูปเทียนหน้าศพ
- ประธาน ฯ จุดเทียนธูปเครื่องทองน้อย (หน้าภาพถ่ายผู้ตาย) ซึ่งจะมีพุ่มดอกไม้ ๓ พุ่ม ตั้งอยู่บนเครื่องทองน้อยและตั้งอยู่ด้านภาพถ่าย โดยเทียนธูปจะตั้งอยู่ร่วมด้วย แต่เป็นด้านตรงข้าม (บนพานรองเดียวกัน)
ครั้นจุดเทียนธูปที่เครื่องทองน้อยแล้ว ให้หันด้านพุ่มดอกไม้ ๓ พุ่มออกไป ทางด้านพระสงฆ์ที่สวด
พระอภิธรรม เป็นการแสดงว่าให้ผู้ตายได้บูชาพระธรรมด้วย (ขั้นตอนนี้ บางแห่งไม่มีก็ได้)
- พิธีกร อาราธนาศีล ผู้ร่วมพิธีรับศีล (บางแห่งอาจนำบูชาพระ กราบพระก่อนก็ได้)
- พิธีกร อาราธนาธรรม (บางวัดหรือบางแห่งอาจไม่มีการอาราธนาธรรม ให้พิธีกร เรียนถามพระสงฆ์ก่อนเวลาพิธี)
- พระสงฆ์ สวดพระอภิธรรม จนจบครั้งสุดท้าย (จะสวดกี่จบแล้วแต่ความนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ )
- พิธีกร และเจ้าหน้าที่ เข้าเทียบเครื่องไทยธรรม
- ประธาน ฯ (และผู้แทนผู้ร่วมพิธี) ถวายเครื่องไทยธรรม
- พิธีกร ลาดผ้าภูษาโยง
- ประธาน ฯ (และผู้แทนผู้ร่วมพิธี ) ทอดผ้าบังสุกุล
- พระสงฆ์ พิจารณาผ้าบังสุกุล
- พระสงฆ์ อนุโมทนา
- ประธาน ฯ กรวดน้ำ
- ประธาน กราบพระรัตนตรัย และน้อมไหว้พระสงฆ์
- พระสงฆ์ กลับ (ผู้ร่วมพิธี ลุกขึ้นยืนน้อมไหว้)
หมายเหตุ บางแห่ง อาจจะทอดผ้าบังสุกุลก่อนถวายเครื่องไทยธรรม ให้พิธีกรเรียนถามความนิยม
ของท้องถิ่นกับพระสงฆ์ก่อนเริ่มพิธี
การเตรียมจัดที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรม มี:-
- ขึงผ้าม่านข้างฝาผนัง ฯ เมื่อฝาผนังนั้นไม่สะอาดหรือไม่เรียบร้อยพอ
- จัดที่ตั้งศพไว้ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา ฯ (สถานที่ไม่อำนวย ให้ดูความเหมาะสม) โดยให้ล้ำไปทางด้านขวา
หรือซ้าย (ความเหมาะสมของสถานที่) และไม่บังโต๊ะหมู่บูชา (ระยะห่างพอสมควร) และให้ต่ำกว่าโต๊ะหมู่
บูชาอย่างเหมาะสม รวมทั้งเป็นที่ที่มีบริเวณกว้างพอ
- จัดที่ตั้งศพให้อยู่ห่างฝาผนังอาคารฯ เป็นต้นประมาณ ๑ ศอกเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ เพื่อเจ้าหน้าที่ หรือ
ญาติสามารถที่จะเดินได้รอบที่ตั้งศพนั้น รวมทั้งมีที่ว่างพอที่จะตั้งโต๊ะ เพื่อวางภาชนะใส่อาหารบูชา
ศพนั้นได้อย่างเหมาะสมด้วย
- เตรียมที่ตั้ง หรือที่แขวนพวงหรีดเคารพศพให้พร้อม
- เตรียมโต๊ะหมู่พร้อมดอกไม้ประกอบหีบศพตามความเหมาะสม
การเตรียมจัดที่ตั้งและภาพถ่ายผู้ตาย มี:-
- ใช้ภาพถ่ายขนาดใหญ่พอสมควรโดยเขียน วัน-เดือน-ปีเกิด-ปีตาย ของผู้ตายไว้ให้พร้อมที่ใต้ภาพถ่ายนั้น
(“ เกิด ” ใช้ว่า ชาตะ และ “ ตาย ” ใช้ว่า มตะ หรือ มรณะ)
- ตั้งภาพถ่ายไว้ด้านเท้าของศพ (ข้างเครื่องตั้งศพ) โดยให้มีที่รองให้สูงพอสมควร
(ใช้ตั้งบนขาหยั่งตั้งภาพถ่ายก็ได้)
- ตั้งเครื่องบูชาศพ ประกอบด้วย โต๊ะตั้งเครื่องบูชา ๑ ชุด แจกัน ๑ คู่ พร้อมดอกไม้สด เชิงเทียน ๑ ที่
หรือ ๑ คู่ พร้อมเทียน (ขาว) กระถางธูป ๑ ใบ พร้อมธูป ๑ ดอก
หมายเหตุ : ศพที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ หรือพระราชทานเพลิงศพใช้เครื่อง
ทองน้อยเป็นเครื่องบูชาศพ (ปัจจุบันมีใช้กับศพทั่วไปด้วย)
การเตรียมจัดตั้งเครื่องยศ – เครื่องหมาย – เครื่องราชอิสริยาภรณ์ - เหรียญตรา มี:-
- ผู้ตายเป็นข้าราชการ ให้นำเครื่องแบบที่ติดเครื่องหมาย- ยศ ฯ เรียบร้อยแล้วตั้งไว้เบื้องหน้าศพ (ด้านเท้าของศพ)
โดยใช้โต๊ะขนาดเล็กรองรับให้สูงพอสมควร
- วางเครื่องราชอิสริยาภรณ์-เหรียญตรา (ถ้ามี) ติดกับหมอนรอง โดยใส่วางบนพานหรือโตกแล้ว
ตั้งวางไว้เบื้องหน้าที่ตั้งศพ (ตั้งทางด้านศีรษะศพ) โดยใช้โต๊ะขนาดเล็กรองรับให้สูงพอสมควรเช่นกัน
การเตรียมจัดที่สวดพระอภิธรรม มี:-
- จัดที่ตั้งตู้พระธรรม โดยยกพื้นให้สูงจากพื้นอาสน์สงฆ์ประมาณ ๑ ศอก
- จัดตั้งไว้ทางด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา (หากสถานที่ไม่อำนวย ให้ตั้งไว้ทางด้านขวาของโต๊ะหมู่บูชาพระก็ได้)
- จัดตั้งไว้เบื้องหน้าบนอาสน์สงฆ์ที่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม
- เครื่องประกอบของชุดตู้พระธรรม ประกอบด้วย:-
- ตู้พระธรรมพร้อมคัมภีร์พระธรรม ๗ คัมภีร์ ๑ ชุด
- เชิงเทียน ๑ คู่ พร้อมเทียน (เหลือง)
- กระถางธูป ๑ ใบ พร้อมธูป ๓ ดอก
- แจกันดอกไม้ ๑ คู่ พร้อมดอกไม้สด
หมายเหตุ ๑ : กรณีใช้เครื่องทองน้อย เครื่องทองน้อยนั้นจะประกอบด้วยพานพร้อมจานรองวางเสมอ
ขอบปากพาน ๑ ชุด พุ่มดอกไม้ ๓ พุ่ม เชิงเทียน ๑ ข้างพร้อมเทียน(ขาว) เชิงเทียน
(สำหรับปักธูป) ๑ ข้างพร้อมธูปไม้ระกำ ๑ ดอก
- ตาลปัตร ๔ ด้าม
- ชั้นลด (ที่รองกราบ) ๑ ที่
หมายเหตุ ๒ ๑. ศพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ จะได้รับ
พระราชทาน พระพิธีธรรม (พระสงฆ์ที่สวดพระธรรม) ในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสวด
พระอภิธรรม ตลอดพิธี ฯ (การปฏิบัติเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง)
๒.ยานพาหนะรับ-ส่งพระพิธีธรรมการจัดเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรม และค่าใช้จ่าย
ในห้วงการบำเพ็ญพระราชกุศล ฯ นี้ สำนักพระราชวังจะเป็นฝ่ายดำเนินการเองทั้งหมด
๓. เครื่องประกอบชุดตู้พระธรรม จะมีเครื่องประกอบเพิ่มเติม คือ:-
- พัดยศพระราชทาน ฯ ในการประกอบพิธี ฯ ๑ ด้าม
-ใช้พัดใบลาน ๔ ด้าม (แทนตาลปัตร ๔ ด้าม)
พิธีสวดพระอภิธรรม (พิธีหลวง)
- ผู้ร่วมพิธี ฯ พร้อม
- พระพิธีธรรม ๔ รูป พร้อม ณ อาสน์สงฆ์
- ประธานในพิธี ฯ (ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์) ลุกขึ้นยืนแล้วถวายคำนับไปทางที่ประทับ ฯ จุดเทียน
ธูปเบื้องหน้าตู้พระธรรม (เทียนธูปที่โต๊ะพระพุทธรูปบูชาไม่ต้องจุด เพราะเป็นที่ที่พระบาทสมเด็จ-
พระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์จะทรงจุดเท่านั้น) แล้วกราบพระ
- ประธาน ฯ ลุกขึ้นยืนแล้วถวายคำนับไปทางที่ประทับ ฯ จุดเทียนเคารพศพ
- ประธาน ฯ จุดเทียนธูปเครื่องทองน้อยเบื้องหน้าภาพถ่ายของผู้ตายแล้วหันพุ่มดอกไม้ออกมาทางพระสงฆ์
- เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล
- ประธานสงฆ์ให้ศีล ( กรณีที่เสด็จพระราชดำเนิน ฯ ใช้คำว่า ประธานสงฆ์ถวายศีล )
- ประธาน ฯ สมาทานศีล (กรณีเสด็จพระราชดำเนิน ฯ ให้ใช้คำว่า…..ทรงศีล และในขณะทรงศีลนั้น
พิธีกรและผู้ร่วมโดยเสด็จบำเพ็ญพระราชกุศล ฯ ไม่ต้องออกเสียงรับศีล เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า
เป็นการถวายศีลเฉพาะพระองค์ ฯ และทั้งยังเป็นการถวายความเคารพแด่พระองค์ผู้เสด็จเป็นองค์ประธาน
อันเป็นพระราชประเพณีนิยมที่บัณฑิตพึงสำเหนียกให้มากและจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง)
- พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม จบแล้ว
- ประธาน ฯ ยืนหันหน้าตรงไปยังที่ประทับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับ ฯ ถวายความเคารพ
๑ ครั้งแล้ว รับและประเคนเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ จากนั้น ทอดผ้าสดับปกรณ์ (กรณีเสด็จ
พระราชดำเนิน ฯ ใช้คำว่า…ทรงประเคนเครื่องไทยธรรมและทรงทอดผ้าสดับปกรณ์) แล้วยืนหันหน้าตรง
ไปยังที่ประทับ ฯ ถวายความเคารพอีก ๑ ครั้ง แล้วจึงกลับไปนั่งยังที่รับรองเดิม
- พระพิธีธรรมสดับปกรณ์
- พระพิธีธรรมถวายอนุโมทนา
- ประธาน ฯ กรวดน้ำ (กรณีเสด็จพระราชดำเนิน ฯ ใช้คำว่า…ทรงหลั่งทักษิโณทก)
- จบการถวายอนุโมทนา พระสงฆ์(พระพิธีธรรม) เดินทางกลับ ( กรณีเสด็จพระราชดำเนิน ฯ ใช้ว่า…….
พระสงฆ์ (พระพิธีธรรม) จะถวายอดิเรก, ถวายพระพรลา และเดินทางกลับ )
- ประธาน ฯ กราบพระ และส่งพระสงฆ์ (กรณีเสด็จพระราชดำเนิน ฯ ใช้ ว่า…ทรงกราบพระ และเสด็จ
พระราชดำเนินกลับ)
- เป็นเสร็จพิธี -
วันที่: 15 มีนาคม 2559