ท่านสามารถแชร์ข้อมูลผ่านช่องทางต่อไปนี้

พิธีรดน้ำศพ และการอาบน้ำ(พระราชทาน) น้ำหลวงอาบศพ


พิธีศพ

การอาบน้ำชำระร่างกายศพ

- เป็นเรื่องภายในครอบครัวระหว่างญาติสนิท  ไม่ต้องเชิญคนภายนอก  เป็นการอาบน้ำชำระร่างกายศพ

   จริง  โดยอาบน้ำอุ่นก่อน  แล้วล้างด้วยน้ำเย็น  ฟอกสบู่ขัดถูร่างกายศพให้สะอาด

   ( แพทย์จะใช้สำลีอุดจมูกศพกันน้ำเหลืองไหลออก และกันแมลงไต่ตอมไว้ให้เรียบร้อย (จะฉีดยา

    ป้องกันกลิ่นศพ ฯ หรือไม่ สุดแต่ทางญาติ (ทายาท) จะประสงค์)

- อาบน้ำเสร็จแล้ว  ใช้ขมิ้นทาทั่วร่างกายศพ  และประพรมน้ำหอม  ใช้ผ้าขาวซับรอยหน้า  ฝ่ามือทั้งสอง 

   แล้วมอบแก่ลูกหลานเก็บไว้บูชา

- อาบน้ำชำระร่างกายศพแล้ว  แต่งตัวศพตามฐานะของผู้ตาย  โดยใช้เสื้อผ้าสะอาดและใหม่ที่สุดเท่าที่มี

   อยู่  ศพข้าราชการให้แต่งเครื่องแบบชุดขาวเต็มยศ  ไม่ต้องมีผ้าคลุมใด ๆ ทั้งสิ้น

การตั้งเตียงรองศพสำหรับรดน้ำศพ

- จัดตั้ง ณ สถานที่กว้าง ๆ ตรงกลางของสถานที่นั้น ๆ

- ตั้งไว้ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา

- หันด้านขวามือศพ  หรือด้านปลายเท้าศพ  ให้อยู่ทางผู้ที่มาแสดงความเคารพศพ

- ไม่ควรเดินผ่านด้านศีรษะศพ

- จัดร่างศพให้นอนหงายเหยียดยาว  จัดมือขวาให้เหยียดออกห่างจากตัวศพเล็กน้อย  โดยให้วางมือแบ

   เหยียดออกคอยรับการรดน้ำ

- ใช้ผ้าใหม่ ๆ (โดยมากใช้ผ้าแพรห่มนอน) คลุมตลอดร่างศพ  เปิดเฉพาะหน้า และมือขวาของศพเท่านั้น

    แต่ศพที่ร่างกายประสพอุบัติเหตุ ซึ่งอวัยวะฉีกขาด ฯ ไม่อยู่ในสภาพที่จะให้ดูได้  หรือไม่น่าดู ให้โยง

    สายสิญจน์จากร่างหรือหีบศพไปยังภาชนะรองรับการรดน้ำ ฯ แล้วประกอบพิธีรดน้ำ ฯ ที่สายสิญจน์นั้น 

   โดยไม่ต้องเปิดผ้าคลุมศพเมื่อจะประกอบพิธีรดน้ำศพ ฯ

- จัดเตรียมขันน้ำพานรองขนาดใหญ่  ตั้งไว้คอยรองรับน้ำที่รดศพแล้วนั้น  พร้อมทั้งเตรียมน้ำอบน้ำหอม

   และภาชนะเล็ก ๆ สำหรับตักให้แก่ผู้มารดน้ำศพ

- จัดบุคคลผู้ใกล้ชิดกับผู้ตาย  หรือลูกหลาน คอยส่งภาชนะสำหรับแขกที่มารดน้ำศพ

พิธีรดน้ำศพ และการอาบน้ำ(พระราชทาน) น้ำหลวงอาบศพ

ลำดับพิธี ขั้นตอนของญาติ ๆ

- เจ้าภาพเชิญผู้มีอาวุโสสูงสุด ณ ที่นั้น ๆ จุดเครื่องสักการะพระรัตนตรัย  เสร็จแล้วให้ลูกหลาน

   วงศาคณาญาติ ผู้ใกล้ชิด ทำการรดน้ำศพ ก่อนเวลาเชิญแขก

 

ลำดับพิธี ขั้นตอนของแขก

- ประธานในพิธี ฯ จุดเทียนธูป ณ โต๊ะหมู่บูชา(ประดิษฐานพระพุทธรูปบูชา)

                 - ประธาน ฯ วางหรีดเคารพศพ (ถ้ามี) และจุดเทียนธูป เหนือศีรษะศพ เคารพศพ

                 - ประธาน ฯ รดน้ำศพ

                 - ผู้ร่วมพิธี ฯ รดน้ำศพ

หมายเหตุ :ในพิธีทางราชการ เมื่อประกอบพิธีรดน้ำศพ (อาบน้ำศพ) และตั้งศพยังที่ตั้งเรียบร้อยแล้ว   

เจ้าภาพ  จะนิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ – ๒๐ รูป บังสุกุล  (สดัปกรณ์) จบแล้วถวายไทยธรรม แล้วกรวดน้ำ

และรับการอนุโมทนาจากพระสงฆ์หรือเพิ่มการนิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมก่อนการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมประจำคืนด้วยก็ได้

ลำดับพิธีของศพที่ได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ

 (พระสงฆ์ใช้ “น้ำหลวงสรงศพ”)  หลังจากดำเนินการขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ฯ และได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ฯ แล้ว  มีขั้นตอนของพิธีการในการประกอบพิธี ฯ ตามลำดับดังนี้:-

                 - ผู้ร่วมพิธี ฯ เข้ารดน้ำศพ (อาบน้ำศพ) ตามลำดับ จนถึงเวลาก่อนห้วงประกอบพิธีรับพระราช-ทานน้ำหลวงอาบศพ ฯ

                        - ได้เวลาประกอบพิธี ฯ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเชิญน้ำหลวงพระราชทาน (น้ำ,น้ำหอม,น้ำขมิ้น)    ไปยังที่ตั้งศพ

                - ประธาน ฯ จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย, กราบพระรัตนตรัย และจุดเทียนธูปเคารพศพ

                - เจ้าหน้าที่ ฯ ยกร่างศพขึ้นเฉพาะส่วนบน (ครึ่งลำตัวท่อนบนของศพ) เพื่อรับน้ำหลวงพระราช-ทานอาบศพ

                - ประธาน ฯ ยืนหันหน้าตรงไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ ฯ ณ วันนั้น ถวายคำนับ แล้วยืนหันหน้าไปทางศพ

                - เจ้าหน้าที่ ฯ เชิญน้ำหลวง น้ำหอม และน้ำขมิ้น ส่งแก่ประธาน ฯ ตามลำดับ

                - ประธาน ฯ หลั่งน้ำหลวงพระราชทานที่ร่างศพ โดยหลั่งน้ำหลวง น้ำหอม และน้ำขมิ้นรดลงโดยเริ่มจากบ่าขวาของศพเฉียงลงไปตามร่องอกตามลำดับ เสร็จแล้วยืนหันหน้าตรงไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ ฯ ณ วันนั้น  แล้วถวายคำนับอีก ๑ ครั้ง

                - ทายาท ฯ ของผู้ถึงแก่กรรม หวีผมให้ศพ โดยหวีลงแล้วหวีขึ้น (หวีลงมีความหมายว่า “ตาย” หวีขึ้น มีความหมายว่า “ได้เกิดใหม่” จากนั้น หักหวีที่ใช้หวีแล้วนั้นทิ้งไป)

                - เจ้าหน้าที่ทำสุกรำศพ (มัดตราสัง) แล้วห่อร่างกายศพยกลงหีบ (โลง) หรือใส่ โกศ ตามฐานะของศพ)

- เสร็จพิธี -

 

การเตรียมจัดโต๊ะและภาชนะใส่น้ำเพื่อการรดน้ำศพ ฯ ประกอบด้วย:-

    - โต๊ะเล็ก (ขนาดพอเหมาะ) ๑ ตัว

     - ผ้าสะอาดปูโต๊ะ ๑ ผืน

     - ภาชนะ (ขันน้ำใบใหญ่ และพานรอง) ๑ ชุด พร้อมน้ำสะอาดที่มีปริมาณเพียงพอแก่การใช้ในพิธีรดน้ำศพ

     - น้ำอบไทย ๑ ขวดใหญ่ (รินผสมลงในน้ำในภาชนะนั้น และนิยมลอยกลีบดอกกุหลาบสด หรือ ดอกมะลิ

       สด ในภาชนะนั้นด้วย)

     - ขันน้ำใบเล็ก (จอกน้อย) และพานรอง ๑ ชุด เพื่อเจ้าหน้าที่ใช้ตักน้ำในขันใหญ่ ฯ ส่งให้ผู้ร่วมพิธี ฯ  รดน้ำศพ

     - ภาชนะรองรับน้ำที่ใช้รดน้ำศพแล้ว ๑ ที่ (ขนาดใหญ่พอที่จะรับน้ำที่ใช้รดแล้วนั้นได้ทั้งหมด)

หมายเหตุ  ๑.กรณีเป็นการรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ จะต้องไม่มีสิ่งใดตั้งหรือวางร่วมด้วยบนโต๊ะ

                     ที่ประดิษฐานโถน้ำหลวง ฯ นั้น

                  ๒.นิยมที่จะขึงผ้าม่านกั้นรอบบริเวณที่ประกอบพิธีรดน้ำศพ ฯ นั้นด้วย


วันที่: 15 มีนาคม 2559


บริการเพิ่มเติม